โครงการสัมมนาทางวิชาการ
สมาคมนักบริหารพัสดุแห่งประเทศไทย
เรื่อง “กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุกับคดีปกครอง พร้อมกรณีศึกษา”
ระหว่างวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566ถึงวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566
ณ โรงแรมวังใต้ เลขที่ 1 ถนน ตลาดใหม่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
------------------------------------------
หลักการและเหตุผล
กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการดำเนินการที่มีหลายขั้นตอนและต่อเนื่องกันเป็นวงจร เริ่มตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผน การประมาณการความต้องการ การพิจารณาเลือกวิธีจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ การจัดทำขอบเขตของงาน การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ การจัดทำราคากลาง การดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญา การบริหารสัญญา การตรวจรับพัสดุ จนถึงการควบคุมและการจำหน่ายเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นงานที่ต้องมีการดำเนินการปฏิบัติต่อเนื่องเป็นประจำในแต่ละปี และสิ่งที่ได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นไปแล้ว สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อเริ่มต้นดำเนินการใหม่ในการจัดหาพัสดุทดแทนของเดิม แม้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างจะมีวงจรดังกล่าว แต่กระบวนจัดหาพัสดุและการบริหารพัสดุภาครัฐก็จะเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างจนถึงการจำหน่ายเนื่องจากการกำหนดนโยบาย การวางแผน การประมาณความต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการเงินการคลัง หลักการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ดีตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กฎกระทรวง และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมถึงหนังสือเวียนต่าง ๆ ที่ออกมาภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักการและแนวทางวิธีปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านพัสดุ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และคณะกรรมการตามระเบียบ ฯ ต้องถือปฏิบัติให้ถูกต้อง พิจารณาถึงความคุ้มค่า ดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้โดยคำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถของผู้ยื่นข้อเสนอ เว้นแต่กรณีที่มีเหตุอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เป็นข้อยกเว้นตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังไม่กระทำการใดๆไปในทางที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการที่เห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็น "เจ้าหน้าที่" หรือ "หัวหน้าเจ้าหน้าที่" หรือ "หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ" ในกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯก็มีกระบวนการเกี่ยวกับการร้องทุกข์ มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ สามารถร้องทุกข์ ร้องเรียน หรืออุทธรณ์ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานชั้นเหนือขึ้นไปได้โดยตรงในกรณีที่เกิดมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทจนเกิดเป็นคดีความระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน อันเรียกว่า “คดีปกครอง” ที่ อาจทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมาได้เกิดการแพรระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดครั้งยิ่งใหญ่ มีผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ห้ามการเดินทางเข้า-ออกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ