หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง หรือสาขาอื่น ตลอดจนการศึกษาวิจัย ซึ่งกระบวนการจัดจ้างที่ปรึกษาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 69 ถึงมาตรา 78 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 101 ถึงข้อ 130 และกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 8 ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ได้กำหนดวิธีการจ้างที่ปรึกษาและประเภทของที่ปรึกษาไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แต่ในกระบวนการปฏิบัติงานจริง หลายๆหน่วยงานของรัฐอาจยังไม่เคยดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษามาก่อน หรือเคยว่าจ้างในบางสาขา แต่เมื่อจะต้องจัดจ้างที่ปรึกษาในสาขาอื่นที่ตนไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงมาก่อน อาจมีข้อกังวลสงสัยในเรื่องของการกำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษาที่ต้องการจะว่าจ้าง ว่าควรกำหนดหรือไม่ควรกำหนดในเรื่องใด รวมทั้งการจัดทำราคากลางในการจัดจ้างที่ปรึกษา จะพิจารณากำหนดอย่างไรจึงจะเป็นการถูกต้องเหมาะสม หรือมีแนวทางวิธีปฏิบัติในการเลือกใช้วิธีจัดจ้างและเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกอย่างไรที่เมื่อดำเนินการไปแล้วจะไม่เกิดเป็นข้อผิดพลาดบกพร่องจนเกิดความเสียหายขึ้นมา ดังนั้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และทักษะในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ทราบถึงขั้นตอนการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 69 ถึงมาตรา 78 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 101 ถึงข้อ 130 และกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 หมวด 8 ประเภทของที่ปรึกษาที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน และหนังสือเวียนกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง